ประเพณี

ประเพณีแข่งเรือหน้าพระที่นั่งและงานของดีเมืองนรา จังหวัดนราธิวาส





ประเพณีแข่งเรือหน้าพระที่นั่ง  และงานของดีเมืองนรา  จังหวัดนราธิวาส  “สีสันเรือกอและอันคงเอกลักษณ์  จากวิถีชีวิตชาวประมงนำสู่ประเพณีท้องถิ่น  เหล่าฝีพายนับสิบประจำในลำเรือ  จากนั้นจึงจ้ำพายสู่หลักชัย  ใครเร็วกว่าคือผู้ชนะ  เสียงปรบมือโห่ร้องส่งกำลังใจจากกองเชียร์ดังรอบ  ภาพบรรยากาศประเพณีแข่งเรือหน้าพระที่นั่ง  และงานของดีเมืองนรา  จึงเต็มไปด้วยสีสันเช่นความงามของลำเรือ” เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  พระบรมวงศานุวงศ์  เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์  ทรงเสด็จออกเยี่ยมราษฎร  เพื่อรับฟังปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชน  เป็นที่มาของโครงการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน  ช่วยให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข  ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ  ชาวนราธิวาสจึงได้นำเอาการแข่งขันเรือกอและประเพณีไทยอันเก่าแก่ถวายทอดพระเนตรเพื่อเทิดพระเกียรติในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น  นำไปสู่การปฏิบัติตามประเพณีซึ่งเริ่มจางหายไปให้กลับมาดำรงอยู่อีกครั้ง ในฤดูน้ำหลาก  วิถีชีวิตของชาวประมงยังคงดำเนิน  ขณะที่อีกด้านถือเป็นโอกาสประชันความแข็งแกร่งของเหล่าฝีพายจากทั่วหมู่บ้าน

การแข่งขันว่าวประเพณี จังหวัดสตูล




“ฤดูแห่งลมว่าวพัดมาถึงอีกครั้ง ท้องฟ้าจึงถูกประดับประดาด้วยว่าวนานาชาติ หนึ่งในนั้นคือว่าวควาย ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านสู่เอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นของว่าวเมืองสตูล ประชันความงามล่องเวหาไปพร้อมๆ กันกับว่าวนานาชาติ เพียงเงยหน้ามองท้องฟ้าจนสุดสายป่าน คุณก็ไม่อาจละสายตา และเพลิดเพลินไปกับงานแข่งขันว่าวประเพณี ณ จังหวัดสตูล” ต้นข้าวขณะออกรวงเรียว ผ่านพ้นช่วงฝนตกหนักสู้ฤดูหนาวต้นปี รวงข้างเอนกระทบกันเสียงกระซิบของท้องทุ่ง ตามด้วยสายลมที่พัดผ่านมาเป็นสัญญาณเปลี่ยนฤดูกาล ขณะรอเก็บเกี่ยวผลผลิต เหล่านักประดิษฐ์ต่างนำว่าวตัวเก่งมาล่องลม ในช่วงเวลาดังกล่าวของทุกปีท้องฟ้าเมืองสตูลจึงเต็มไปด้วยว่าวหลากชนิดที่บรรดาเด็กๆ คนหนุ่มสาว ต่างออกลีลาวาดลวดลายประชันฝีมือในการบังคับว่าวอย่างรื่นเริง การเรียนรู้อยู่ร่วมกันตามวิถีของธรรมชาติ ทำให้การนำว่าวมาใช้ประโยชน์ในการสร้างความบันเทิงพัฒนารูปแบบเรื่อยมา ทั้งในประเทศไทยรวมทั้งว่าวจากนานาชาติ จนเริ่มมีการแข่งขัน คนต่างชาติ ต่างภาษา ต่างภูมิประเทศ จึงมีโอกาสพบเห็นว่าวรูปทรงแปลกและแตกต่างกัน นั่นรวมถึงว่าวควายที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นของสตูล


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น